share

7 วิธี รักษาหุ่นปัง ให้ไม่กลับไปพังอีก

Last updated: 15 Oct 2023
267 Views
7 วิธี รักษาหุ่นปัง ให้ไม่กลับไปพังอีก

7 วิธี รักษาหุ่นปัง ให้ไม่กลับไปพังอีก


หลายท่านที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการผ่าตัดกระเพาะ โดยเฉพาะหลังช่วงเวลาทอง 6 เดือนแรก - 1 ปี แล้วตอนหลังมาน้ำหนักกลับมาขึ้นอีก วันนี้หมอมีวิธีที่จะทำให้เพื่อนๆ มีน้ำหนักปกติและสุขภาพดีในระยะยาวมาฝากค่ะ


1. เปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อน ข้อนี้สำคัญมากที่สุดเลยค่ะ


ความคิดที่ว่านี้คือ หลังผ่าตัดกระเพาะแล้วกินได้ทุกอย่าง เพียงแค่ลดปริมาณลง เพราะกระเพาะเหลือเล็กลง


มาเป็น


หลังผ่าตัดแล้วกระเพาะเราเหลือน้อยแล้ว ความหิวก็ลดลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก พยายามเลือกแต่อาหารที่ดีมีประโยชน์ให้กับร่างกาย ไม่เลือกของที่ไม่มีประโยชน์ หมอช่วยเราแล้ว 50% อีก 50% อยู่ที่เราล้วนๆ ว่าจะเลือกแบบไหน เพราะถ้ายังกินของไม่มีประโยชน์อยู่เหมือนเดิม อาจจะเหมือนน้ำหนักลดในช่วงแรก แต่ระยะยาว กลับมาพังแน่นอน น้ำหนักยังไงก็ขึ้น


สำหรับข้อที่ 2-7 จะเป็นการปรับพฤติกรรมทีละเล็กละน้อยค่ะ


การปรับพฤติกรรมทีละน้อย เพียงแค่ 1% แต่ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาวของเราได้ค่ะ พฤติกรรมที่แนะนำให้ปรับมีดังนี้


2. ตัดแป้งหรือลดการกินคาร์โบไฮเดรตให้เหลือน้อยที่สุด


เป็นปกติที่คนไข้หลังผ่าตัดกระเพาะโดยเฉพาะช่วงหลังผ่าไปหลายๆ เดือน จะรู้สึกว่าการกินแป้ง น้ำตาล ขนมแล้วกินง่ายกว่าการกินอาหารที่เน้นโปรตีนตามคำแนะนำ


แต่การกินแป้งหรือน้ำตาลนั้น จะทำให้เรา


ติดการกินหวาน
ความอยากอาหารอื่นๆ ตามมาเรือยๆ
หิวบ่อยมากขึ้น
ติดอยู่ในวังวนของความหิวความอยากวนๆ ไป ออกมาไม่ได้


เพราะฉะนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือ การออกมาจากวงจรนี้ด้วยการตัดแป้งหรือกินแป้งให้น้อยที่สุด


หากอยากจะกินแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตบ้าง


แนะนำให้เลือกกินข้าวไรซ์เบอรี่หรือข้าวกล้อง แทนข้าวขาว หรือเลือกกินขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาว


ค่อยกลับมาเริ่มกินแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนบ้าง หลัง 6 เดือนไปแล้ว หรือหลังจากที่มีค่า BMI เริ่มเข้าใกล้ปกติ คือลดลงมาเหลือ 23-27


️ แป้ง น้ำตาลที่อยากให้หลีกเลี่ยงนี้ นอกจากข้าวเป็นเม็ดๆ แป้ง เส้นๆ ทั้งหลายแล้ว ยังรวมถึงพวกน้ำหวาน น้ำชง น้ำผลไม้ และน้ำ 0 แคลต่างๆ ที่เขียนที่ฉลากว่าไม่มีน้ำตาล แต่จะมีสารให้ความหวานอยู่ ซึ่งก็ให้ผลไม่ต่างจากน้ำตาลปกติ อินซูลินหลั่งเหมือนเดิม เลี่ยงได้เลี่ยงนะคะ ไม่หลอกตัวเองค่ะ

3. ทำ IF (Intermittent Fasting) คือการอดอาหารที่ให้พลังงานในช่วงเวลาหนึ่ง และกินอาหารที่ให้พลังงานในช่วงเวลาหนึ่งเหมือนเดิมทุกๆ วัน


ทำ IF 16:8 หรือ 18:6 ก็พอค่ะ แต่ทำไปทุกวันยาวๆ ไป


ไม่แนะนำถึงขั้น 23:1 เพราะระยะยาวร่างกายจะไม่ไหวเอาค่ะ


การทำ IF ที่ถูกต้อง หมอก็ยังแนะนำให้เลือกอาหารและเครื่องดื่มช่วงที่ทำ IF ด้วยนะคะ ไม่ใช่การกินทุกอย่างเหมือนเดิมระหว่างทำ IF ค่ะ เพราะถ้ากินทุกอย่าง ถึงแม้จะทำ IF อยู่ ยังไงก็พังค่า


4. เน้นกินอาหารจริงที่เน้นโปรตีนเป็นหลัก


อาหารจริงที่ว่านี้คืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ไม่ติดมัน ไข่ ผัก เอามาต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง โดยตรง หรือกินกับข้าวเป็นหลักถ้าไม่ได้ทำอาหารเอง


อาหารที่ไม่แนะนำคืออาหารแปรรูป เช่น ลูกชิ้น แฮม ไส้กรอก หมูยอ


ใช้เครื่องปรุงปกติได้ โดยพยายามไม่กินรสจัดเกินไป เช่น เค็มจัด หรือหวานจัด


5. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน


น้ำเปล่าทำให้ทุกอวัยวะในร่างกายเราสามารถทำงานต่อไปได้อย่างปกติ


น้ำเปล่าจำเป็นมาก ตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จใหม่ๆ จนถึงระยะยาว หลายครั้งที่อาการทั้งหลายหลังการผ่าตัดกระเพาะ เกิดจากการขาดน้ำ เช่น อาการหน้ามืด อ่อนเพลีย คลื่นไส้ พะอืดพะอม ใจสั่น เวียนหัว ท้องผูก ริดสีดวงทวาร ผื่นแพ้ง่าย ค่าไตขึ้น ไตวาย เก๊าท์กำเริบ นิ่วที่ไต เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยการดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอทุกวันค่ะ


6. ออกกำลังกาย


แน่นอนว่าตอนน้ำหนักเยอะ เราจะมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย เช่น อาการปวดข้อต่างๆ ที่ต้องรับน้ำหนักเยอะ การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้ที่น้ำหนักเยอะจะเป็นออกกำลังกายที่ไม่มีผลกับข้อต่อต่างๆ ได้แก่ การว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่


แต่การออกกำลังกายที่ง่ายที่สุดคือการเดิน เริ่มต้นให้ถึง 5,000 ก้าวต่อวัน แล้วค่อยๆ ปรับให้ถึง 10,000 ก้าวต่อวัน ซึ่งสามารถเริ่มเดินเท่าที่ไหวได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด


ส่วนการออกกำลังกายแบบหนักๆ สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 1 เดือนไป โดยเริ่มจากที่ตัวเองไหวก่อน แล้วก็เพิ่มความหนักไปเรื่อยๆ ค่ะ


ในระยะยาว หมอยังคงแนะนำการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์นะคะ


7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


การนอนหลับที่ดี จะทำให้ร่างกายไม่หลั่งฮอร์โมนเครียด และลดการหลั่งฮอร์โมนหิว โดยแนะนำการนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน และเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม


หากท่านไหนที่มีความจำเป็นต้องทำงานช่วงกลางคืน จะแนะนำให้นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงติดต่อกันแทนนะคะ


️ ถ้าอดนอนหรือนอนน้อย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียดและหิวมากขึ้นมากๆ มีผลต่อการลดน้ำหนักแน่นอนค่า


สุดท้ายนี้หมอขอสรุปว่าการเปลี่ยนความคิดของเราในเรื่องการลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดจริงๆ นะคะ และหมอขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ ในการลดน้ำหนัก เพื่อให้เราเองมีสุขภาพที่ดี ได้อยู่กับคนที่เรารักและครอบครัวของเรากันไปนานๆ ค่ะ


ด็อกเตอร์โยโกะ ผ่าตัดกระเพาะ

Related Content
 5 Tips for Eating Effectively Post-Gastric Surgery
5 Tips for Eating Effectively Post-Gastric Surgery
Improving Health Conditions After Bariatric Surgery: When and How?
Discover the timeline and methods for improving various health conditions following gastric surgery for obesity. Backed by medical research and insights from doctors caring for over 2,500 surgical patients, this guide outlines when and how different congenital diseases can be alleviated post-surgery.
5 misconceptions about bariatric surgery to treat obesity
There are several common questions and misconceptions surrounding stomach surgery for obesity often raised by patients or the general public.
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy