share

7 คำถามที่ต้องตอบ เมื่อน้ำหนักค้าง

Last updated: 6 Jul 2023
835 Views
7 คำถามที่ต้องตอบ เมื่อน้ำหนักค้าง
หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน น้ำหนักจะลงได้ดีในช่วงแรก จากนั้นอาจจะมีน้ำหนักค้าง นิ่ง ไม่ลง หรือขึ้นได้ หลายท่านก็จะเป็นกังวลว่าเพราะอะไร เกิดจากอะไร ทำอย่างไรถึงจะทำให้น้ำหนักลงต่อได้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น หมอมี 7 คำถามที่อยากให้คนไข้ตอบก่อนดังนี้ค่ะ

1. ท่านได้กินอาหารตามคำแนะนำหรือไม่
อาหารตามคำแนะนำหมายถึง
ในช่วง 6 เดือนแรก
  • แนะนำอาหารกลุ่มโปรตีนเป็นหลัก หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มข้าว แป้ง น้ำตาล น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำที่มีสารให้ความหวาน ของทอด ของมัน และอาหารที่ผ่านการแปรรูป
หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว
  • ให้เลือกรับประทานอาหารในกลุ่มโปรตีนก่อนในแต่ละมื้อ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ จะเป็นไข่ขาวหรือไข่แดงก็ได้ รับประทานได้จนอิ่ม
ถ้าไม่อิ่มถึงค่อยกินผักต่อ
ถ้าไม่อิ่มถึงค่อยรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น
‼️ข้อควรระวัง
  • แนะนำโปรตีนจากอาหารเป็นหลัก หากจะกินเวย์ หรือเครื่องดื่มโปรตีนต่างๆ ให้ระวังในเรื่องของพลังงานในเครื่องดื่ม รวมถึงไขมันและน้ำตาลที่มากับเครื่องดื่มเหล่านี้

หมอมีคนไข้หลายท่านมากๆ ที่เข้ามาปรึกษาเรื่องน้ำหนักค้างหลังผ่าตัด แต่พอคุยรายละเอียดเรื่องอาหาร พบว่าหลายท่านดื่มนมเวย์ทุกวัน เพราะคิดว่าโปรตีนต่อวันไม่ถึง แต่กลายเป็นว่าแคลอรี่เกิน โปรตีนที่เกินมา กลายเป็นไขมันที่สะสมแทน น้ำหนักไม่ลง ค้าง หรือขึ้น แต่พอหยุดนมเวย์ตามคำแนะนำของหมอ น้ำหนักก็ลงต่อ 

  • หมอเลยขอแนะนำว่า หากจะดื่มนมเวย์หรือเครื่องดื่มโปรตีนเสริมทั้งหลาย หมอแนะนำให้ดื่มเฉพาะวันที่ออกกำลังกายอย่างหนัก โดยดื่มหลังออกกำลังกาย อันนี้จะดีมากในแง่ของการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกายค่ะ แต่ถ้าไม่ได้ออกกำลังกาย จะไม่แนะนำนะคะ
กินโปรตีนจากอาหารดีที่สุดค่ะ

 


2. ท่านกำลังอยู่ในช่วงมีประจำเดือนหรือไม่
ช่วงมีประจำเดือน ร่างกายจะมีภาวะบวมน้ำได้เป็นปกติ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือบางทีอาจจะรู้สึกอยากอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างได้ หมอแนะนำให้พยายามรับประทานอาหารตามคำแนะนำเหมือนเดิม นอนหลับพักผ่อนและดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อาจจะอนุญาตตัวเองให้แอบกินนอกเหนือคำแนะนำได้บ้าง นิดๆ แค่เดือนละครั้งช่วงมีประจำเดือนค่ะ หลังจากหมดประจำเดือน น้ำหนักจะกลับมาอยู่ในช่วงเท่ากับก่อนประจำเดือนมาเอง

 

3. น้ำหนักของท่านถึงเกณฑ์ที่หมอตั้งเป้าหมายไว้แล้วหรือไม่
เกณฑ์ของหมอคือ
สิ้นเดือนที่ 1 - น้ำหนักลดลง 10% ของน้ำหนักตั้งต้น
สิ้นเดือนที่ 3 - น้ำหนักลดลง 20% ของน้ำหนักตั้งต้น
สิ้นเดือนที่ 6 - น้ำหนักลดลง 30% ของน้ำหนักตั้งต้น
สิ้นเดือนที่ 12 - น้ำหนักลดลง 40% ของน้ำหนักตั้งต้น
  •   หากน้ำหนักของท่านลงมาถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว น้ำหนักจะนิ่งซักพัก เพื่อปรับตัว เพราะเมื่อน้ำหนักลงไปมากๆ ร่างกายก็จะกลัวว่าน้ำหนักจะลงไปเรื่อยๆ จนอาจอดตายได้ ร่างกายจึงปรับตัวด้วยการลดการเผาผลาญ น้ำหนักจึงนิ่งๆ ซักพัก ตรงนี้ไม่ต้องกังวลนะคะ เป็นปกติเลยค่ะ หมอแนะนำให้ท่านคอนเฟิร์มร่างกายด้วยกินอาหารตามคำแนะนำต่อไป เพื่อบอกร่างกายว่ายังไม่อดตายนะ จะยังมีอาหารให้ร่างกายต่อไปอยู่ แต่ปริมาณอาหารจะลดลงจากเดิม เพราะกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง และอาหารจะเน้นโปรตีนเป็นหลัก เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสวิตช์ใช้พลังงานจากไขมันเดิม และแป้ง น้ำตาลที่สะสมมาในร่างกาย น้ำหนักจะนิ่งซักพัก แล้วจะลงต่อแน่นอนค่ะ
  •  แต่ถ้า BMI ปกติแล้ว คือ 18.5-22.9 หรือว่าเลย 1 ปีหลังผ่าตัดไปแล้ว น้ำหนักจะลงต่อได้ยาก จะต้องอาศัยการคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างหนักถึงจะลงต่อได้ เพราะร่างกายได้ปรับตัวไปหมดแล้วค่ะ

เพราะฉะนั้นแล้ว พยายามทำ 6 เดือนแรกให้ดีที่สุดนะคะ เวลาทองเลยค่ะ


4. ท่านได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอแล้วหรือไม่
การนอนหลับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหนักลงได้ดี เพราะช่วงที่นอนหลับ ร่างกายจะสามารถเผาผลาญได้ดี ฮอร์โมนเครียดและฮอร์โมนหิวหลั่งออกมาน้อย
การนอนหลับที่แนะนำคือ

  • เข้านอนก่อน 4 ทุ่ม และ
  • นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน

5. ท่านได้ออกกำลังกายแล้วหรือยัง
การออกกำลังกายที่แนะนำคือการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยช่วง 3 เดือนแรกขอเน้นแบบคาร์ดิโอมากกว่าแบบเวทเทรนนิ่ง
สำหรับท่านที่น้ำหนักเกินเยอะ อาจจะออกกำลังกายแบบหนักมากช่วงแรกไม่ไหว หมอแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการเดินก่อนค่ะ เดินเฉยๆ อย่างเดียว จะเดินในหมู่บ้านหรือเดินลู่ก็ได้ค่ะ ทำได้ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด
เริ่มจากเดิน 3,000 ก้าวต่อวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็นวันละ 5,000 ก้าว 8,000 ก้าว และ 10,000 ก้าว
แต่ถ้าท่านมีปัญหาเรื่องหัวเข่า จะแนะนำเป็นการปั่นจักรยานอยู่กับที่หรือว่ายน้ำไปก่อน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ลดแรงกระแทกต่อหัวเข่าและข้อต่างๆ
  • หากท่านออกกำลังกายแล้ว แต่น้ำหนักยังค้าง หมอแนะนำให้ท่านเพิ่มความหนักของการออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายที่มีการเผาผลาญ คือการออกกำลังกายเรารู้สึกเหนื่อยแบบหอบแฮ่กๆ หลังออกกำลังกายเสร็จ เพราะถ้าออกกำลังกายเสร็จแล้วไม่เหนื่อย นั่นแปลว่าน่างกายชินกับการออกกำลังกายแบบนี้แล้ว แทบจะไม่ค่อยเผาผลาญ น้ำหนักจึงนิ่ง จึงแนะนำให้เพิ่มความหนักของการออกกำลังกายไปอีกค่ะ


6. ท่านดื่มน้ำเปล่าเกิน 1.5-2 ลิตรต่อวันหรือยัง
การดื่มน้ำเปล่าที่เพียงพอ จะทำให้ระบบการเผาผลาญและการทำงานของอวัยวะต่างๆ เป็นไปอย่างปกติ ไตไม่วาย ขับถ่ายปกติ ไม่หน้ามืด ไม่เวียนหัว
ตัวเลข 1.5-2 ลิตรนี้เป็นเพียงตัวเลขคร่าวๆ บางท่านอาจต้องการน้ำมากกว่านี้ ถ้าน้ำหนักมาก หรือตัวสูงมาก อีกวิธีหนึ่งที่สามารถดูว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือยังคือการดูสีปัสสาวะตัวเอง หากสีปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม หรือสีน้ำตาล นั่นแปลว่าร่างกายท่านเริ่มขาดน้ำแล้ว แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าเพิ่มอีก เป้าหมายคือปัสสาวะท่านจะต้องเป็นสีเหลืองใสหรือสีเหลืองอ่อนค่ะ


7. ท่านเครียดเกินไปหรือไม่
ความเครียดทำให้น้ำหนักค้าง หรือขึ้นได้ เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียด ซึ่งส่งผลให้เพิ่มน้ำตาลในเลือด พอน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายก็หลั่งอินซูลิน เพื่อดึงน้ำตาลในเลือดที่สูงกลับเข้าสู่เซลล์อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันได้ (ลองย้อนไปอ่านบทความเรื่องอินซูลินดูนะคะ)
บางท่านเครียดมากเรื่องน้ำหนักไม่ลง น้ำหนักก็จะไม่ลงจริงๆ แล้วก็เครียดอีก น้ำหนักก็ไม่ลง เป็นวัฏจักรวนไป
ถ้าท่านเครียดในเรื่องการลดน้ำหนัก หมออยากจะให้ท่านคิดว่า ถ้าทำตั้งแต่ข้อ 1-6 มาแล้ว แต่มันยังไม่ลง นั่นคือท่านได้ทำดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องคิดมาก ลองปล่อยใจสบายๆ เลิกกังวลเรื่องน้ำหนักไปซักพัก ไม่ต้องไปสนใจมัน เดี๋ยวมันจะลงต่อเองค่ะ

Related Content
 5 Tips for Eating Effectively Post-Gastric Surgery
5 Tips for Eating Effectively Post-Gastric Surgery
Improving Health Conditions After Bariatric Surgery: When and How?
Discover the timeline and methods for improving various health conditions following gastric surgery for obesity. Backed by medical research and insights from doctors caring for over 2,500 surgical patients, this guide outlines when and how different congenital diseases can be alleviated post-surgery.
5 misconceptions about bariatric surgery to treat obesity
There are several common questions and misconceptions surrounding stomach surgery for obesity often raised by patients or the general public.
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy