Last updated: 25 Apr 2024
875 Views
การผ่าตัดลดน้ำหนักคือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง อาจทำร่วมกับเปลี่ยนทางเดินของอาหารให้ผ่านกระเพาะอาหารน้อยที่สุด ทำให้ดูดซึมสารอาหารได้ลดลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลง นอกจากนี้แล้วยังตัดกระเพาะส่วนยอดที่สร้างฮอร์โมนหิวออกไปด้วย ทำให้มีอาการหิวน้อยลงหลังผ่าตัด
เหมาะสำหรับ
- ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 32.5 ขึ้นไป ร่วมกับมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปวดหัวเข่า ข้อเสื่อม หยุดหายใจขณะนอนหลับ นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำรังไข่หลายใบโดยมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติและขนดก เป็นต้น
- ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไปโดยที่ไม่มีโรคประจำตัว
- เคยพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีการออกกำลังกายหรือคุมอาหารแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
การผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืนและถาวร เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญไม่แพ้การผ่าตัดอการปฏิบัติตนหลังผ่าตัด
ปัจจุบันการผ่าตัดลดน้ำหนักมีหลายแบบ แบบที่นิยมเป็นที่พูดถึงกันมี 6 แบบ ดังนี้
1. การผ่าตัดแบบสลีฟ
- เป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนนอกออกไปประมาณ 80% ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้แล้วยังตัดกระเพาะอาหารส่วนยอด (Fundus) ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหิวที่ชื่อกรีลิน (Ghrelin) ออกไปด้วย ทำให้หลังผ่าตัดจะรับประทานอาหารได้น้อยลง และมีอาการหิวน้อยลงเมื่อเทียบกับก่อนผ่าตัด
- สามารถลดน้ำหนักส่วนที่เกินมาได้ประมาณ 60% ใน 1 ปี
- สามารถลดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีถุงน้ำรังไข่หลายใบทำให้มีภาวะขนดกและประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นต้น
- การผ่าตัดวิธีนี้หากในอนาคตมีปัญหาที่กระเพาะอาหารจะสามารถส่องกล้องเข้าไปดูกระเพาะอาหารที่เหลืออยู่ได้
- ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน
- มีข้อห้ามคือในผู้ป่วยที่มีกรดไหลย้อนรุนแรงจะไม่แนะนำให้ผ่าตัดวิธีนี้
2. การผ่าตัดแบบบายพาส
- เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินของอาหาร โดยตัดแบ่งกระเพาะอาหารออก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกระเปาะเล็กๆ ประมาณ 30 ซีซี หรือประมาณครึ่งขวดยาคูลท์ และที่เหลือกระเปาะใหญ่ จากนั้นจะยกลำไส้เล็กส่วนกลางให้ขึ้นมาต่อกับกระเพาะอาหารกระเปาะเล็กๆ
- ทำให้เวลารับประทานอาหาร อาหารจะผ่านเข้ากระเพาะอาหารกระเปาะเล็กแล้วไปยังลำไส้เล็กส่วนกลางทันที
- ส่วนกระเพาะอาหารกระเปาะใหญ่จะถูกทิ้งไว้ในท้องเฉยๆ ไม่สามารถเข้าไปส่องกล้องดูภายในได้ในอนาคต
- หลังผ่าตัด ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง เนื่องจากกระเพาะอาหารเหลือขนาดเล็กลงมาก และร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ทำให้น้ำหนักลดลงได้
- สามารถลดน้ำหนักส่วนที่เกินมาได้ประมาณ 60 - 70% ใน 1 ปี และสามารถลดโรคต่างๆ ได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบสลีฟ แต่จะสามารถลดโรคเบาหวานแบบรุนแรงได้
- ใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่าแบบสลีฟ
- วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานแบบรุนแรง หรือมีกรดไหลย้อนแบบรุนแรง
- ในอนาคตหากมีปัญหา ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบบายพาสจะเปลี่ยนไปผ่าตัดวิธีอื่นได้ยาก
3. การใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร
- เป็นการใส่ห่วงเพื่อรัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง
- ปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว เนื่องจากลดน้ำหนักได้ผลน้อย และมีผลข้างเคียงเยอะ เช่น ห่วงเคลื่อนที่ ห่วงแตก อาเจียนมาก เป็นต้น
4. การใส่บอลลูน
- ไม่ได้เป็นการผ่าตัด
- เป็นการใส่บอลลูนเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหาร เข้าไปในกระเพาะอาหาร แล้วให้บอลลูนไปขยายตัวกินพื้นที่ในกระเพาะอาหาร
- ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงเนื่องจากแน่นท้อง และน้ำหนักลดลงได้
- ระยะเวลาในการใส่บอลลูนสามารถใส่ได้นานถึง 1 ปี
- หากนำบอลลูนออกแล้วกลับไปรับประทานอาหารเยอะเหมือนเดิม น้ำหนักสามารถขึ้นมาได้อีก
อย่างไรก็ตาม หากท่านดัชนีมวลกายเข้าเกณฑ์ในการผ่าตัดลดน้ำหนัก และลดโรคต่างๆ แล้ว หมอขอแนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดค่ะ
5. การผ่าตัดแบบสลีฟพลัส
- การผ่าตัดแบบลูกผสมระหว่างการผ่าตัดแบบสลีฟและบายพาส
- เริ่มต้นจะทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบสลีฟก่อน เสร็จแล้วจะทำการบายพาสเฉพาะลำไส้เล็ก ไม่ให้อาหารที่รับประทานเข้าไปผ่านลำไส้เล็กส่วนต้นทำให้ไม่มีการดูดซึมสารอาหารบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น
- หลังผ่าตัด ทำให้รับประทานได้น้อยลงจากการผ่าแบบสลีฟและมีการดูดซึมสารอาหารจากลำไส้เล็กลดลงจากการบายพาสเฉพาะลำไส้เล็ก ทำให้น้ำหนักลดลงได้
- เป็นการลดปัญหาการขาดสารอาหารระยะยาวที่มักเจอในการผ่าตัดแบบบายพาส และลดปัญหาการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่มักเจอในการผ่าตัดแบบบายพาส
- ปัจจุบันมีรายงานผลการผ่าตัดว่าสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ประมาณ 60-75 % ใน 1 ปีและลดโรคเบาหวานที่รุนแรงได้
- ปัจจุบันมีรายงานผลการผ่าตัดว่าสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ประมาณ 60-75 % ใน 1 ปีและลดโรคเบาหวานที่รุนแรงได้
6. การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร (Endostitch)
- เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย แต่ประเทศอื่นๆ มีมานานแล้ว
- ไม่ใช่การผ่าตัด จึงไม่มีรอยแผลเป็นที่หน้าท้อง
- เป็นการส่องกล้องเข้าไปทางปากเพื่อเย็บกระเพาะอาหารให้กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง โดยไม่ได้มีการตัดเนื้อกระเพาะส่วนใดออก เป็นการเย็บเฉยๆ
- กระเพาะอาหารส่วนยอดที่สร้างฮอร์โมนหิวก็ยังอยู่เหมือนเดิม และกระเพาะอาหารทั้งหมดยังอยู่ในกระเพาะเหมือนเดิม
- เหมาะสำหรับผู้ที่ค่าดัชนีมวลกายก้ำกึ่งว่าจะผ่าตัดดีหรือไม่ อาจจะเย็บกระเพาะไปก่อน หากน้ำหนักลดก็ดี หรือถ้าไม่ลดก็ค่อยมาผ่าตัด
- ส่วนตัวหมอเคยผ่าตัดคนไข้ที่เคยส่องกล้องเย็บกระเพาะมาแล้ว 2 ปีจากต่างประเทศ แล้วน้ำหนักกลับมาขึ้นใหม่ สุดท้ายก็เลยมาผ่าตัดกระเพาะ ซึ่งปัจจุบันน้ำหนักลงได้ดีกว่ามาก