share

5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน

Last updated: 2 May 2024
314 Views
5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน

        วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังเรื่องการผ่าตัดกระเพาะที่หมอมักจะได้ยินจากคนไข้หรือคนทั่วไปเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนค่ะ

1. คนที่จะผ่าตัดได้ต้องหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไปเท่านั้น
ข้อความนี้ไม่จริงนะคะ

        คนที่จะผ่าตัดได้จะต้องเข้าเกณฑ์ในการผ่าตัด โดยดูจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คำนวนได้จาก น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) 2 ครั้ง หรือ คำนวณได้จากลิ้งค์นี้ https://www.lovefitt.com/เครื่องคำนวณหาค่าดัชนีมวล กาย-bmi/ จากนั้นไปดูว่าค่าดัชนีมวลกายเราเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งนี้หรือไม่

(1) ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 32.5 และมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ หยุดหายใจขณะนอนหลับ ถุงน้ำ รังไข่หลายใบ เป็นต้น

(2) ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 37.5 และไม่มีโรคประจำตัว

(3) ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 28 และมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานรุนแรง ควบคุมด้วยยาไม่ได้ (ต้องอยู่ในวิจารณญาณของแพทย์) โดยที่ท่านจะต้องได้พยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ มาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย คุมอาหาร กินคลีน IF ปากกาลดน้ำหนัก จากนั้นท่านถึงค่อยมาปรึกษาหมอเพื่อผ่าตัดลดน้ำหนักค่ะ

2. คนเป็นเบาหวานห้ามผ่าตัดกระเพาะ
ข้อความนี้จริงอยู่ครึ่งหนึ่งค่ะ

  • คนที่อ้วนและเป็นเบาหวานด้วยและไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยตัวเอง หรือรักษาเบาหวานแล้วคุมเบาหวานได้ไม่ดีเลย ควรที่จะมาผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนอย่างยิ่ง อันนี้ขอขีดเส้นใต้เน้นเลยนะคะ เพราะการผ่าตัดจะช่วยให้ท่านหายจากเบาหวานได้ถึง 83% หายชนิดที่ว่าผ่าตัดเสร็จวันนี้ เช้าวันต่อมาโยนยาเบาหวานทิ้งไปได้เลย ไม่ต้องกินแล้ว
  • แต่มีข้อแม้ว่าท่านจะต้องคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ให้น้อยกว่า 8 จะทำให้ผลลัพธ์หลังผ่าตัดดีมากอย่างที่กล่าวไปค่ะ แต่การผ่าตัดนี้จะไม่แนะนำสำหรับท่านที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หมายถึงเบาหวานที่เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ หรือเป็นเบาหวานแต่ผอมมากๆ นะคะ

3. การผ่าตัดกระเพาะเป็นการผ่าตัดที่อันตราย มีโอกาสเสียชีวิตสูง
ข้อความนี้ไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกันค่ะ

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดส่องกล้องเจาะรูเล็กๆ เข้าไปทางหน้าท้อง มีแผลตั้งแต่ 3-6 รู (แล้วแต่เทคนิค) ของหมอเองมี 3 รูเท่านั้นค่ะ
  • เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง และลดโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่ตามมากับความอ้วนได้
  • ความเสี่ยงเสียชีวิตจากการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนน้อยกว่าการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีหรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกอีกนะคะ อ้างอิงจาก ASMBS (สมาคมผ่าตัดโรคอ้วน ประเทศสหรัฐอเมริกา)

4. ผ่าตัดไปแล้วก็ยังอ้วนเหมือนเดิม เห็นคนนั้นคนนี้ผ่าแล้วก็ยังไม่เห็นผอม
ข้อความนี้เป็นจริงเพียงแค่ครึ่งหนึ่งค่ะ

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการลดน้ำหนักอย่างจริงจังและถาวรเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ การผ่าตัดจะช่วยให้ทานอาหารได้น้อยลงกว่าเดิมมาก และหิวลดลงกว่าเดิมมาก เพราะตัดกระเพาะส่วนที่สร้างฮอร์โมนหิวออกไปด้วย ส่วนหลังจากนี้ท่านจะเป็นผู้เลือกแล้วว่าจะทานอาหารแบบไหนเข้าไป และจะทานอาหารเพราะความอยาก หรือทานเพราะความหิว
  • น้ำหนักหลังผ่าตัดจะลงได้ตามเกณฑ์หรือไม่ ขึ้นกับการเลือกอาหารและเครื่องดื่มรับประทานหลังผ่าตัด และการออกกำลังกาย หากท่านรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูงตลอดเวลา เช่น ชานมไข่มุก ทุกวัน ท่านก็จะน้ำหนักลงอยู่นะคะ แต่ไม่ตามเกณฑ์ หรืออาจจะน้ำหนักกลับมาขึ้นได้ในตอนหลัง หากทานในปริมาณที่มากทุกๆ วัน
  • เพราะฉะนั้นแล้ว หลังผ่าตัดจะต้องพยายามเลือกทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ คืออาหารในกลุ่มของโปรตีนเป็นหลัก หลีกเลี่ยงข้าว แป้ง น้ำตาล น้ำหวาน ของทอด ของมัน และอาหารแปรรูป จะช่วยให้ท่านน้ำหนักลงได้ตามเกณฑ์
  • เกณฑ์น้ำหนักที่ลดลง คิดจากน้ำหนักตั้งต้น ดังนี้
    • สิ้นเดือนที่ 1 ลดลง 10%
    • สิ้นเดือนที่ 3 ลดลง 20%
    • สิ้นเดือนที่ 6 ลดลง 30%

5. ผ่าตัดแล้วจะขาดสารอาหาร ต้องกินหรือฉีดวิตามินไปตลอดชีวิต
ข้อความนี้เป็นจริงเพียงบางส่วนค่ะ

  • การผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนมีหลายวิธี ปัจจุบันวิธีที่ได้รับการรับรองว่าเป็นการผ่าตัดมาตรฐาน คือ การผ่าตัดแบบสลีฟ และแบบบายพาส
  • การผ่าตัดแบบสลีฟ จะเหลือประมาณกระเพาะอาหารประมาณ 20-25% จะมีเรื่องการขาดสารอาหารได้น้อย หลังผ่าตัดจะต้องทานวิตามิน 1 ปี หลังจากนั้นจะทานวิตามินต่อในกรณีที่มีการขาดวิตามินบางตัว หรืออาจจะไม่ทานวิตามินแล้วถ้าสามารถทานสารอาหารได้ครบ
  • การผ่าตัดแบบบายพาส จะเหลือกระเพาะอาหารประมาณ 5-10% พบเรื่องการขาดสารอาหารได้เยอะกว่ามาก หลังผ่าตัดจะต้องทานและฉีดวิตามินเสริมตลอดชีวิต

        หมอหวังว่าบทความนี้จะช่วยปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนให้กับทุกๆ ท่านได้นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง
การผ่าตัดลดน้ำหนักคืออะไร มีกี่แบบ อะไรบ้าง
การผ่าตัดลดน้ำหนักคือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง อาจทำร่วมกับเปลี่ยนทางเดินของอาหารให้ผ่านกระเพาะอาหารน้อยที่สุด ทำให้ดูดซึมสารอาหารได้ลดลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy